วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Barong Dance (ระบำบารอง)

พาไปชมการแสดงพื้นบ้านของชาวบาหลี ที่ทุกคนที่มาเที่ยวต้องแวะชมกันกับ Barong Dance หรือ ระบำบารอง โดยเนื้อเรื่องของระบำนี้ กำเนิดมาจากนิทานพื้นบ้านผสมกับมหาภารตะ ว่าด้วยเรื่องความดีและความชั่วโดยมีบารอง (สัตว์ในจินตนาการที่มีลักษณะคล้ายสิงโต) เป็นตัวแทนความดี ส่วนความชั่วนั้นมี รังดา เป็นตัวแทน (รังดานั้น เป็นปีศาจเพศหญิง น่าเกลียดน่ากลัว นมยาน เขี้ยวโง้ง ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของเจ้าแม่ทุรคา)

การแสดงบารองนั้น มีคณะแสดงหลากหลายเจ้าในบาหลี แต่ที่เป็นที่นิยมและต้นตำรับเลยนั้น ต้องที่ Sahadewa Barong Dance ซึ่งตั้งอยู่ในย่าน Babutan ทางใต้ของ Ubud

รอบแรกแสดงเวลา 9.30 น. ซื้อบัตรเข้าชมกันก่อน

ราคาบัตรอยู่ที่คนละ 100,000 RP

ด้านในเป็นโรงละครแบบ Open-Air เข้าไปนั่งจองที่กันก่อนเลย แนะนำด้านหน้าตรงกลาง จะเห็นชัดสุด

การแสดงนั้นใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษๆ เริ่มด้วยวงดนตรีโหมโรงขึ้นมาก่อน โดยวงดนตรีออเคสตร้าบาหลีนี้ มีชื่อเรียกว่า Gamelan มีเครื่องดนตรีหลักเป็นระนาดเหล็ก (Gangsa), ฆ้องใหญ่ (Gongs), ฆ้องแถว (Terompong), กลองคู่ (Kendang) และเครื่องดนตรีประกอบที่ทำจากไม้ไผ่ (Tingklik)

จากนั้นพระเอกของเรื่องซึ่งก็คือบารอง ก็ออกโรงมาเลย 

จากนั้น ตัวตลกของการแสดงนี้ ซึ่งก็คือ ลิงก็ออกมาเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม ตลกมาก 


มาดูเนื้อเรื่องกันต่อ เริ่มจากสาวใช้สองคนของรังดา ออกมาเข้าสิงคนรับใช้ของเทวีกุนตี จากนั้นเมื่อคนรับใช้ไปพบกับเสนาบดี สาวใช้ก็เข้าสิงเสนาบดีต่ออีกทีนึง จากนั้นทั้งหมดก็เดินทางไปพบกับเทวีกุนตีด้วยกัน

จากนั้นเทวีกุนตีเสด็จออกมาพร้อมพระโอรสนามว่า สเตวะ เนื่องจากเทวีกุนตีเคยสัญญากับรังดาว่าจะทำการสังเวยสเตวะ พระนางจึงสั่งให้จับสเตวะไปผูกไว้กับต้นไม้ 

จากนั้น พระศิวะซึ่งแปลงองค์เป็นมหาโยคีนุ่งขาวห่มขาว ได้ออกมาประทานพรให้สเตวะเป็นอมตะ รังดาจึงปรากฎตัวออกมาเพื่อจะฆ่าสเตวะ แต่ไม่ตาย รังดาจึงเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด และได้ขอร้องให้สเตวะปลดปล่อยนางโดยการประหารเพื่อขึ้นสู่สวรรค์ จากนั้น กาลิกา สาวกสาวคนหนึ่งของรังดา ต้องการให้ปลดปล่อยบ้าง แต่กรรมที่นางต้องชดใช้ยังไม่หมด สเตวะจึงไม่ปลดปล่อยให้ นางเลยกลายร่างเป็นยักษ์และเกิดการต่อสู้กันขึ้น แต่ก็แพ้อีก

กาลิกาจึงแปลงกายเป็นรังดา ส่วนสเตวะแปลงกายเป็นบารองแล้วสู่กันใหม่ ชาวบ้านที่เป็นพวกของสเตวะได้ถือกริชออกมาช่วยต่อสู้ แต่ถูกอำนาจของรังดาสะกดไว้ให้ใช้กริชทำร้ายตัวเอง แต่ด้วยอานุภาพของความดี กริชจึงแทงไม่เข้า จากนั้น มีนักบวชออกมาพรมน้ำมนต์ให้ชาวบ้านพ้นจากการสะกดจิต และบารองก็ได้ทำให้มนต์ของรังดาเสื่อมคลายลง การต่อสู้ของบารองและรังดา ก็ยังคงต่อสู้กับไม่จบ เสมือนความดีและความชั่วที่ต่อสู้กันในโลกนี้ เป็นข้อคิดดีๆ ที่เราได้จากการชมการแสดงบารอง แนะนำเลยซักครั้งหนึ่งในทริปบาหลี ไม่ผิดหวังแน่นอน ตอนจบการแสดงสามารถขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับนักแสดงกันบนเวทีได้อย่างใกล้ชิด ได้รูปสวยๆ กลับบ้านกันด้วย